ทำไมต้องรู้สึกเศร้าเมื่อเข้าหน้าฝน ?

พอสภาพอากาศเริ่มอึมครึม อาการดราม่าก็เริ่มตามมา เคยเป็นกันมั้ย…? พอฝนตกทีไรก็รู้สึกถึงความเศร้าที่ผ่านมาทักทายภายในจิตใจของเราอยู่เสมอ  จริงๆ แล้วอาการนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะรู้สึกเศร้าเมื่อเข้าหน้าฝน เพราะได้มีงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Acta Paedopsychiatrica ในหัวข้อ "อิทธิพลของอุตุวิทยาที่มีผลต่อเด็กและเยาวชน" เปิดเผยว่าจากการศึกษานักเรียนจำนวน 16,000 คน พบว่าผู้ชาย 18% และผู้หญิง 29% มีการตอบสนองในทางลบต่อสภาพอากาศ มีอาการรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รวมถึงอารมณ์แปรปรวนเมื่อสภาพอากาศไม่เป็นใจ ซึ่งภาวะเหล่านี้เกิดจากสภาพอากาศที่อึมครึม ไม่มีแสงแดดจึงส่งผลให้สมองลดการผลิตสารเซโรโทนิน ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้นั่นเอง… เอาเป็นว่าใครที่มีอาการแบบนี้ต้องรีบเช็คสุขภาพ (จิต) ใจก่อนจะเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคตกันดีกว่า



ทำไม…ความเศร้ามาเยือน เมื่อถึงเดือนฝน ?
ว่าด้วยเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย อย่างช่วงหน้าฝน ก็อาจทำให้หลายๆ คนมักรู้สึกเหงา หงอย และเศร้าใจ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะในช่วงหน้าฝนมักไม่ค่อยมีแสงแดดมากเหมือนในช่วงหน้าร้อน ซึ่งแสงแดดนั้นส่งผลกับการหลั่งสารเซโรโทนินในสมองของคนเรา ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และที่สำคัญสารเซโรโทนินยังมีหน้าที่…
  • ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด เช่น เมื่อโดนมีดบาดถ้าขาดสารเซโรโทนินก็จะทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น เป็นต้น
  • ควบคุมความหิว เซโรโทนินเป็นสารที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม ถ้าขาดสารนี้อาจทำให้เรารู้สึกหิวตลอดเวลา หรืออาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหารก็ได้ และมักทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
  • ควบคุมการนอนหลับ เมื่อร่างกายมีสารเซโรโทนินต่ำลง ก็จะส่งผลให้รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการอ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สดชื่น
  • ควบคุมอารมณ์ทางเพศ โดยปกติแล้วอารมณ์ทางเพศอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยแต่เซโรโทนินคือปัจจัยหนึ่งในนั้น ถ้าเซโรโทนินต่ำลงอาจส่งผลให้มีอารมณ์ ความต้องการ และสมรรถภาพทางเพศสูงขึ้น แต่หากระดับ เซโรโทนินที่สูงกว่าปกติอาจส่งผลแบบตรงกันข้าม
  • ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว การขาดเซโรโทนินมักทำให้เกิดอาการวิตกกังวล เครียด โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย และบางครั้งก็แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงได้ นอกจากนี้ ความบกพร่องในการรับเซโรโทนินยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตอื่นๆ อีกด้วย

พอฝนตกสภาพอากาศก็ไม่แจ่มใสและมืดกว่าปกติ ซึ่งการที่สภาพอากาศมืดมัวก็เลยทำให้ร่างกายมีสารเซโรโทนินที่ต่ำลงและส่งผลไปให้อารมณ์ของเราซึมเศร้าลงนั่นเอง



‘เซโรโทนิน’ สำคัญแค่ไหนต่อร่างกาย ?
บางคนอาจยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเซโรโทนินว่าคืออะไร แต่รู้มั้ยว่าสารนี้มีความสำคัญต่ออารมณ์ของคนเราอย่างแรง เพราะสารเซโรโทนินมีความสำคัญต่อระบบประสาทเป็นอย่างมาก ถ้ามีระดับสารเซโรโทนินที่สมดุลก็จะทำให้อารมณ์และความรู้สึกส่งผลดีมากยิ่งขึ้น เช่น ใจเย็น มีสมาธี จิตใจสงบ อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย แต่ในทางกลับกันเมื่อเรามีระดับสารเซโรโทนินต่ำกว่าปกติอาจทำให้อารมณ์ดาวน์ลงได้เหมือนกัน เช่น รู้สึกเศร้า อ่อนไหว กังวล โมโห ไม่มีสมาธิ ถ้าหากสารเซโรโทนินอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น โรค PTSD และโรคกลัว (Phobias) เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย 

ก็ความเศร้ามันห้ามกันไม่ได้…แต่ป้องกันได้
ถ้าในเมื่อความเศร้านั้นห้ามกันไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้วิธีการรับมือกับความเศร้าช่วงหน้าฝนง่ายๆ ก็จะผ่านวันสบายๆ ไปได้ไม่ยาก อย่างเช่น
  • เลือกกินอาหารที่เพิ่มสารเซโรโทนิน เช่น อาหารที่มีทริปโตเฟน (Tryptophan) สูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง และอาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เป็นต้น
  • เปิดไฟเมื่อทำงาน หรืออยู่ในห้องให้สว่าง เพราะแสงไฟจะช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินในร่างกายได้
  • เมื่อสภาพอากาศแจ่มใส ให้ออกไปเดินรับแดดด้านนอก เพราะรังสี UV จะช่วยให้อารมณ์ดีและรู้สึกสดชื่นมากขึ้น
  • หากิจกรรมทำยามว่าง เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม เป็นต้น

ไม่ว่าจะฤดูไหนก็ยังสามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูได้ อย่างน้อยก็เป็นการสร้างสารเซโรโทนินให้เพิ่มขึ้น เพราะแบบนี้จิตใจก็จะแจ่มใส พร้อมท้าทายทุกฤดูกันไปเลย!
-->