วิธีการรับมือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (ฉบับมือใหม่)

ภาวะโรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งโรคนี้ไม่เพียงแต่ต้องการการรักษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมแต่การใส่ใจดูแลจากคนรอบข้างทั้งร่างกายและจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านโรคนี้ได้อย่างมีความสุข 


 
#ควรปฏิบัติตัวยังไงดี เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์โรคซึมเศร้า
เราเชื่อว่าหลายคนคงเป็น ก็ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง เริ่มบทสนทนา หรือการเป็นผู้ฟัง โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่เมื่อก่อน เราอาจจะคุยกันแบบเพื่อน บางทีก็มีบูลลี่บ้าง หยอกล้อบ้าง แต่ความเป็นเพื่อนก็ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญ เพราะเราจะกังวลว่าเราควรเปลี่ยนการกระทำของเราดีไหม คำตอบของข้อนี้คือ ไม่ต้องเปลี่ยนความเป็นตัวเราเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่!!! เราควรระมัดระวังเรื่องคำพูดมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันคำพูดที่อาจจะไปในทิศทางลบ หรือบั่นทอนจิตใจของผู้ป่วย เช่นเดียวกัน หากเป็นคนในครอบครัวเรา ยิ่งจะมีคำพูดเชิงการสอนหรือแนะนำ เช่น พ่อแม่บ่นเราว่าเรากลับบ้านดึก ซึ่งพ่อแม่เราก็เป็นห่วงเรานั่นแหละ เลยอาจมีคำพูดรุนแรงอยู่ในบทสนทนานั้นๆ นี่เองจึงทำให้เราต้องคำนึงถึงการพูดโต้ตอบ เพื่อสร้างให้บรรยากาศนั้นดีขึ้นและไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด หรือหลายๆ คนน่าจะคุ้นๆ กับคำว่า ‘เซฟโซน’ นั่นละ
 
#สิ่งที่ (ควรทำ) เป็นอย่างยิ่ง!
เราลองคัดสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญว่าเราควรทำอะไรบ้าง เพื่อทำให้เราได้ทบทวนกันว่า ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่ก็จะไม่ทิ้งความเป็นตัวเรา จนทำให้เกิดความน่าประหลาดใจให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
  • ชักชวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้เค้ารู้สึกว่า อยู่ตัวคนเดียว วิธีการนี้ไม่ยาก และก็เชื่อว่า หากเป็นครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน ก็จะมีกิจกรรมในลักษณ ะนี้อยู่แล้ว เช่น การดูหนัง เดินห้างสรรพสินค้า ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้โดดเดี่ยว รู้สึกว่ามีที่พึงทางกายและทางใจด้วย ทั้งนี้ก็เซฟความปลอดภัยของผู้ป่วยได้อีกด้วย เพราะเค้าก็จะอยู่ในสายตาเราตลอดเวลา
  • ให้กำลังใจ (แบบจริงใจ) เพื่อทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า เค้ามีคนคอยซัพพอร์ต ให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง และที่สำคัญคือ คำพูดในทิศทางบวก เช่น สู้ๆ นะเราอยู่ข้างๆ เสมอ มาหาเราได้ตลอดนะ เราพร้อมช่วยเหลือแก เป็นต้น
  • รับฟังในฐานะเซฟโซนที่ดี ผู้ป่วยมักมีเรื่องราวที่อยากจะระบายและอยากพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่รู้สึกไม่สบายใจ และมีภาวะนึงที่เราต้องระวัง คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วง ไม่มีประโยชน์ในโลกใบนี้ รู้สึกไม่มีค่า ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือ การรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ พร้อมที่จะฟังและพร้อมที่จะเป็นเซฟโซนให้กับเค้าได้ด้วย ไม่กดดันและทำให้บรรยากาศการพูดคุยไปในทิศทางที่ดี


 
#สิ่งที่ (ไม่ควร) ห้ามเด็ดขาด!
เมื่อมีสิ่งที่ควรทำกันไปแล้ว เราก็ต้องกลับเข้าสู่โหมดระมัดระวังกันบ้าง แน่นอนว่า เรื่องนี้อาจจะยากสักนิดนึง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำไม่ได้ และสิ่งที่ห้ามจะทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี ไม่ยากเลย
  • อย่ากดดัน ข้อนี้สำคัญเลย หากผู้ป่วยแสดงความรู้สึกท้อ หมดกำลังใจ ไม่มีที่พึงพา รู้สึกตัวเองไม่มีประโยชน์ สิ่งที่เราไม่ควรทำเลยคือการกดดัน ซึ่งก็มีด้วยกันหลายวิธีที่ไม่ควร เช่น ทำไมไม่ทำแบบนี้! สู้สิ! แค่นี้เอง เมื่อไหร่จะหายสักที! โดยการกดดันเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยยิ่งมีสภาวะเครียดมากกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลไม่ดีตามมาภายหลังได้
  • อย่าปฏิเสธแบบทันทีทันใด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะร้องขอหรืออ้อนวอนให้ทำอะไรสักอย่างนึง ซึ่งแน่นอนว่า การขอมักหวังผลเสมอ แต่การปฏิเสธโดยทันทีทันใด เป็นการทำร้ายน้ำใจกันในทางอ้อม อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าคนนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้แล้ว
  • ต่อว่าหรือใช้คำพูดที่ไม่ดีกับผู้ป่วย อันนี้ห้ามเด็ดขาด เพราะปกติผู้ป่วยจะมีสภาวะเศร้ามากอยู่ในระดับนึงแล้ว ยิ่งเราเข้าไปเติมเชื้อไฟให้ประทุขึ้นมาอีก ยิ่งจะทำให้แย่เข้าไปกว่าเดิม
 
สุดท้ายเราจะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในแบบที่เขาก็เป็นคนปกติคนนึง ที่แค่ต้องการที่พึ่งทางจิตใจก็เท่านั้นเอง อย่าคิดว่าเขาแกล้งเศร้า เพราะโรคซึมเศร้าถือเป็น ‘การเจ็บป่วย’
-->