‘เหนื่อยแต่ต้องไปต่อ’ วิธีดูแลสุขภาพใจแบบไม่ต้องลาออกจากงาน
เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว…อยากจะลาออก’ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจ เราอยากให้คุณได้ลองเช็คตัวเองกันอีกซักครั้ง เพราะบางทีปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่งาน แต่อาจจะเป็นเพราะใจคุณกำลังแบกรับอะไรบางอย่างไว้มากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
วันนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีคลายเครียด ช่วยฮีลใจ ที่ทำให้คุณลุกขึ้นเดินต่อไปได้อีกครั้ง แบบที่ไม่ต้องลาออกจากงาน
#ลองคุยกับ(ใจ)ตัวเอง อย่าลืมว่าไม่มีใครรู้จักตัวคุณได้ดีไปกว่าตัวคุณเอง ลองถามตัวเองดูว่า ‘ความรู้สึกเหนื่อย’ เกิดจากอะไร เพราะงานหนักเกินไป? เพราะเราไม่มีเวลาพัก? เพราะเราไม่ได้รับการยอมรับ? หรือเพราะเราเริ่มไม่เป็นตัวเอง? มีผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีพนักงานไทยมากถึง 57% ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน และหนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือการที่พวกเขาขาด Work-Life Balance
#คิด วิเคราะห์ แยกแยะ หลังจากที่ได้คุยกับตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องตั้งสติ แล้วลองคิดวิเคราะห์ดูว่า ปัญหานั้นเกิดจากสิ่งที่คุณควบคุมได้ หรือไม่ ถ้าเป็นสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ เช่น เป็นนโยบายบริษัท วัฒนธรรมองค์กร อาจจะเป็นสิ่งที่คุณเองคงไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้าปัจจัยนั้นเกิดกับสิ่งที่คุณควบคุมได้ เช่น เส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงาน เราแนะนำว่าให้คุณเดินเข้าไปคุยกับหัวหน้างาน อย่ากลัวที่จะบอกความรู้สึก เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
#หาช่วงเวลา Micro-Break ไม่จำเป็นต้องรอทริปหยุดยาว เพราะคุณสามารถหาช่วงเวลาพักระหว่างวันได้เสมอ เช่น หลังทำงานอย่างต่อเนื่องมา 1 ชั่วโมง อาจจะลุกไปพัก ยืดเส้น ยืดสาย เม้าท์มอยกับเพื่อนๆ ซัก 5 นาที เพื่อไม่ให้สมองล้าจนเกินไป หรือแม้แต่เทคนิค 4-7-8 ของ Dr.Andrew Weil แพทย์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแบบองค์รวม ที่ได้พูดถึงเทคนิคการหายใจที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในการช่วยลดความเครียด ทำให้หลับได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่ใช้ควบคุมอารมณ์เมื่อตึงเครียด
- หายใจเข้า ทางจมูกช้าๆ นับ 1 ถึง 4 ในใจ
- กลั้นลมหายใจไว้ นับ 1 ถึง 7
- ผ่อนลมหายใจออก นับ 1 ถึง 8
- ทำซ้ำทั้งหมด 4 รอบ หรืออาจเพิ่มเป็น 8 รอบเมื่อฝึกเป็นประจำ
การที่เราหายใจออกนานกว่าหายใจเข้านั้น จะเป็นการช่วยให้ระบบประสาทอัติโนมัติเข้าสู่โหมดผ่อนคลาย (parasympathetic nervous system)
#ปรับโหมดเพิ่มบาลานซ์ให้ชีวิต บางทีการที่คุณเหนื่อยใจอาจมาจากการขาดบาลานซ์ในชีวิต ลองใช้เทคนิค Time Blocking แทนการทำงานแบบ To-Do-List ปกติที่เคยทำ และคุณจะมีโฟกัสได้ดีขึ้น ลดความนอยด์ และสามารถสร้าง Work-Life Balance ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น หรือถ้าใครที่ทำงานแบบ Work From Home ลองจัดพื้นที่ทำงานให้แยกออกจากพื้นที่พักผ่อน เพราะงานวิจัยจาก Harvard Business Review ชี้ว่า คนที่ตั้งขอบเขตชัดเจน มีความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่าคนที่เปิดรับงานแบบ 24 ขั่วโมง
เอาล่ะ! ลองเอาวิธีของเราไปปรับใช้กันดู แล้วอย่าลืมกลับมาแชร์กันนะว่าเป็นยังไง แล้วคุณยังตัดสินใจที่จะลาออกจากงานอยู่มั้ย?