ลูกมี Ego มากไป อาจไม่ใช่เพราะใคร แต่เป็นเพราะเรา

Ego หรือ ‘ตัวตน’ ของเด็ก ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่มันจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการเลี้ยงดู คำพูด และพฤติกรรมของพ่อแม่ในทุกๆ วัน มาดูกันว่าการเลี้ยงดูแบบไหนจะสร้าง Ego ที่ดี และแบบไหนที่สร้าง Toxic Ego ให้ลูกที่เราอาจเผลอทำไปโดยไม่รู้ตัว 



‘ความมั่นใจ’ คือสิ่งที่เด็กทุกคนควรมี การที่ลูกมีความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องที่ดี ถือว่าผลเป็นเชิงบวกในแง่ของพัฒนาการ การเรียนรู้และความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะลูกจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ไม่กลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ ลูกจะมีทักษะในการสื่อสารที่ดี กล้าพูด กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม และกล้าที่จะปฏิเสธหรือต่อรองเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่โอเค และความมั่นใจก็จะช่วยให้ลูกไม่กลัวผิดพลาด แต่เขาจะเรียนรู้ที่จะรับมือกับความล้มเหลวได้ดี มี Growth Mindset เพราะเด็กที่มั่นใจจะเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในระยะยาว และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือเด็กที่มั่นใจในตัวเองจะมีสุขภาพจิตที่ดี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคงทางอารมณ์ 

แต่ถ้า ‘มากเกินไป’ ก็อาจไม่ใช่เรื่องดี เมื่อเด็กมีความมั่นใจที่มากเกินไป หรือมี Ego เขาจะเชื่อว่า ‘ฉันดีที่สุด’ จนไม่เปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น ทำให้เด็กขาดทักษะในการเรียนรู้ร่วมกัน การปรับตัว และการทำงานเป็นทีม Harvard Graduate School of Education ได้ออกมาเตือนว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องของความเห็นใจผู้อื่น (Empathy) และการเคารพผู้อื่น อาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เน้นแต่ตัวเอง เสี่ยงต่อการเป็นคนหัวรั้นหรือเผด็จการ ที่ชอบควบคุมผู้อื่น และในขณะเดียวกันเด็กที่มี Ego จะรับไม่ได้เมื่อตัวเองแพ้หรือทำอะไรผิดพลาด เขาอาจจะเอาแต่โทษคนอื่น ไม่ยอมรับผิด และสุดท้ายจะกลายเป็นเด็กที่ขาดความยืดหยุ่นทางอารมณ์ มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

‘การเลี้ยงดู’ ส่วนสำคัญต่อการสร้าง Toxic Ego อย่างที่ได้เกริ่นไปว่าการเลี้ยงดูส่งผลอย่างมากต่อ Ego หรือตัวตนภายในที่เด็กสร้างขึ้นเพื่อตีคุณค่าของตัวเอง ซึ่ง Ego ของเด็กนั้นถูกสร้างขึ้นจากสิ่งที่เด็กได้ยินซ้ำๆ วิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่อความผิดพลาดหรือความสำเร็จ พฤติกรรมของพ่อแม่เวลาลูกแสดงออก รวมถึงเงื่อนไขของความรักหรือการยอมรับ

ที่นี้มาดูกันว่ารูปแบบการเลี้ยงดูแบบไหน ที่อาจเผลอสร้าง Toxic Ego ให้กับลูกแบบไม่รู้ตัว 
  • เลี้ยงแบบชื่มชมเกินเบอร์ (Overpraise) 
การชื่นชมอาจจะสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก แต่การที่ชมมากเกินไป หรือชมแบบเกินจริง อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดคิดว่าตัวเอง ‘พิเศษกว่า’ หรือ ‘เหนือกว่า’ คนอื่น โดยไม่ต้องพยายาม เด็กจะคุ้นเคยกับการถูกชมจนขาดทักษะในการรับมือกับความล้มเหลว และจะผูกติดกับคำชมจนเกินไป จนเชื่อว่าตัวเองจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีคนชม และการที่เด็กถูกพ่อแม่ชื่มชมเกินจริง จะมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กหลงตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ  
  • เลี้ยงแบบควบคุมเกินไป (Helicopter Parenting)
มีงานวิจัยในเด็กวัย 2-10 ปี พบว่า พ่อแม่ควบคุมมากเกินไป เช่น แทรกแซงทุกการตัดสินใจของลูก ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แก้ปัญหาแทนลูกไปซะหมด ควบคุมทุกรายละเอียดในชีวิตลูก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีปัญหาในการควบคุมตัวเอง (self-regulation) และอารมณ์ รวมถึง self-esteem ลดลงได้ 
  • เลี้ยงแบบเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา (Comparative Parenting)
ใครที่เคยพลาดเผลอเปรียบเทียบลูกตัวเองกับคนอื่น เช่น ทำไมลูกถึงทำไมไ่ด้แบบเขา ลูกต้องทำให้ดีกว่าเขา รู้มั้ยว่าคำพูดเหล่านี้จะทำให้เด็กสร้าง Ego แบบ ‘แข่งขัน’ กับคนอื่นตลอดเวลา เด็กจะไม่กล้าที่จะล้มเหลวเพราะกลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ อย่าเผลอใช้ความสำเร็จคนอื่นเป็นแรงกระตุ้น และอย่าตัดสินลูกจากผลลัพธ์ภายนอก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองขึ้นอยู่กับคนอื่น และไม่รู้จักชื่นชมคนอื่น เพราะถูกสอนให้เปรียบเทียบตลอดเวลา

แล้วคุณล่ะ? เผลอสร้าง Toxic Ego ให้กับลูกบ้างหรือเปล่า

 
-->