เด็กเล็กกับการเดินทางบนเครื่องบิน...ทำยังไงให้รอด!

#“เด็กกับเครื่องบิน” แค่ได้ยินก็แทบจะต้องเตรียมที่อุดหูไว้ ถึงจะสวมบทนางงามรักเด็กได้เก่งแค่ไหน ถ้าเจอบนไฟล์ทที่ลำพังแค่ความเหนื่อยล้าก็เกินต้านไหวแล้ว ยังจะต้องไม่ได้หลับได้นอนเพราะเสียงเด็กร้องอีกก็คงจะไม่ไหว แต่ถึงจะโทษเด็กไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ Dr. Simon Baer ที่ปรึกษาศัลยแพทย์หูคอจมูกของอังกฤษ บอกไว้ว่าการที่เด็กเล็กร้องไห้บนเครื่องบินนั้นอาจมีเหตุผลมากกว่าที่เราคิด เนื่องจากท่อยูสเตเชียนของเด็กเล็กยังไม่มีการพัฒนาที่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่เลยทำให้มีปัญหากับการปรับความดันในหูมากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กโต ที่อาจจะรู้สึกหูอื้อบ้างเวลาที่เครื่องบินขึ้น แต่พอเคี้ยวหมากฝรั่งก็หาย เพราะแบบนี้ถึงต้องเตรียม (ให้) พร้อมกับทุกสถานการณ์



เด็กเอย...ทำไมจึงร้อง
นอกเหนือจากความกดอากาศภายในเครื่องบินที่ส่งผลต่อการปรับความดันในหู จนเกิดอาการปวด หรือเจ็บภายในหูขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงเครื่องบินขึ้น (Take-off) และช่วงเครื่องบินเตรียมลดระดับลงจอด (Landing) จะเป็นสาเหตุหลักของการร้องกระจองอแงของเด็กน้อยแล้ว ยังมีปัจจัยเหตุอื่นที่ทำให้ส่งเสียงร้องได้อีก ประกอบด้วย
  • กลัวเสียงเครื่องยนต์ และความสั่นของเครื่องบินในบางช่วงเวลาของการเดินทาง
  • กลัวคนแปลกหน้าที่นั่งข้างๆ และการพลุกพล่านของเจ้าหน้าที่และผู้โดยสารบนเครื่องบิน
  • ไม่ชินกับการนั่งในที่แคบนานๆ หรือกลัวที่แคบ
  • เบื่อที่ต้องอยู่บนเครื่องบินนานหลายชั่วโมง
  • มีความไม่สบายตัว หรือมีอาการป่วยจึงทำให้ไม่สามารถอยู่นิ่ง และปวดหูได้ง่ายกว่าปกติ



เตรียมพร้อมก่อนขึ้นเครื่อง
เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องพาลูกน้อยออกเดินทาง การ
วางแผนและจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ และในขั้นตอนการจองหากเป็นไปได้ ควรเลือกเที่ยวบินที่เดินทางตรงกับเวลานอนอย่างไฟล์ทกลางคืน หรือถ้าเป็นทริปที่เดินทางไม่ไกลก็ยังอาจเลือกเป็นไฟล์ทช่วงกลางวันที่ตรงกับเวลานอนกลางวันของเด็กได้อยู่ เพื่อให้เด็กได้งีบหลับเอาแรงระหว่างเดินทางและลดโอกาส รวมถึงช่วงเวลาที่จะส่งเสียงร้องงอแงรบกวนเพื่อนร่วมทาง นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระหว่างเดินทางอย่างขวดนม น้ำเปล่า จุกหลอก ผ้าอ้อมสำหรับเปลี่ยนบนเครื่อง เสื้อผ้า และของเล่นเด็กให้พร้อม เพื่อสร้างความคุ้นชินให้ไม่รู้สึกแปลกที่แปลกทาง

On board ให้รอดปลอดภัยต้องใช้ตัวช่วย
เมื่อถึงเวลาขึ้นเครื่องจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าเด็กน้อยจะร้องขึ้นมาเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นให้หาทางป้องกันไว้ก่อนจะดีที่สุด โดยให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำวิธีการต่างๆ ดังนี้
  • เลือกที่นั่งติดหน้าต่าง เพื่อใช้หลอกล่อดึงความสนใจของเด็ก และหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ จากการขยับตัวยุกยิกไปมา ทำให้แขนขายื่นออกนอกที่นั่ง จนเป็นเหตุให้ถูกเดินชน หรือพลัดตกได้
  • ให้เด็กดูดนม น้ำ หรือใช้จุกหลอกขณะเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด เพื่อป้องกันอาการปวดหูที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันบนเครื่องบิน โดยวิธีนี้ควรทำเมื่อผู้ใหญ่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในหูก่อน เพราะถ้าให้เด็กดื่มนมหรือน้ำตั้งแต่ขึ้นเครื่อง อาจทำให้เด็กอิ่มหรือเบื่อก่อนถึงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันจริงๆ  
  • ดึงดูดความสนใจด้วยของเล่นชิ้นโปรด เล่านิทาน หรือร้องเพลงเบาๆ เพราะเด็กอาจอยู่ไม่นิ่งหรือส่งเสียงร้องจนรบกวนผู้อื่น 
  • ในบางสายการบินได้อนุญาตให้ติดตั้งคาร์ซีทโดยต้องมีขนาดที่เหมาะสม ก็ควรนำคาร์ซีทไปติดตั้ง เพื่อทำให้เด็กคุ้นเคยและยังมีประโยชน์ในเรื่องความปลอดภัยด้วย
  • นวดเบาๆ บริเวณใบหูของเด็กพร้อมร้องเพลงกล่อม สร้างความผ่อนคลายและเคลิบเคลิ้ม ซึ่งอาจช่วยให้เด็กไม่เครียดและหลับสบายขึ้น

เอาล่ะ! ถ้าเตรียมตัวพร้อมแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาออกเดินทางได้อย่างมีความ (สงบ) สุข...ของทุกคน
-->