เศร้า vs โรคซึมเศร้า นี่เราเข้าข่ายอันไหนกันแน่!!


หดหู่ ท้อถอย เหงาหงอยเพราะเรื่องแย่ๆ จนแต่ละวันที่ผ่านไปแทบไม่เหลือรอยยิ้ม บ่อยครั้งที่อาการเหล่านี้ทำให้เราสับสนระหว่างความเศร้าและโรคซึมเศร้า เหมือนกับที่ Stephen S. Ilardi อาจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Kansas ได้กล่าวไว้ว่า “เวลาที่ผู้คนพูดถึงโรคซึมเศร้า...มักหมายถึงอารมณ์เศร้าทั่วๆ ไป” อ๊ะ!! ก่อนที่เราจะกังวลกันมากไปกว่านี้ ลองมาเช็คตัวเองกันซักหน่อยดีกว่ ว่าจริงๆ แล้วเรา “แค่เศร้า” หรือกำลังเสี่ยง “โรคซึมเศร้า” กันแน่!!



1.กิจกรรมที่เคยชอบ...กลับไม่น่าสนใจเหมือนเดิม
ถ้าคุณแค่รู้สึก “เศร้า” เวลาที่เจออะไรๆ ที่เคยชอบ ความสนใจก็อาจจะถูกดึงไปได้แบบง่ายๆ เช่น ซีรี่ส์เกาหลี วิ่งมาราธอน นอนเล่นเกม ที่ถึงแม้จะเศร้ามากแค่ไหนแต่ก็ยังสนุกได้เหมือนเดิม นั่นแสดงว่าอาการเศร้าที่คุณเป็นยังไม่น่าห่วง ซึ่งต่างจาก “โรคซึมเศร้า” ที่ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เคยสร้างความสุขให้คุณมากมายแค่ไหน แต่ในวันนี้...คุณจะไม่รู้สึกว่ามันน่าสนใจเลยซักนิด

2.มีปัญหา “นอนไม่หลับ” 
ต่อให้ “ความเศร้า” จะกัดกินคุณแค่ไหน แต่เมื่อถึงเวลาที่ความเศร้าค่อยๆ ทุเลา ความง่วงและความอ่อนเพลียก็จะเข้ามาแทนที่ ทำให้คุณยังสามารถนอนหลับได้ ไม่เหมือนกับ “โรคซึมเศร้า” ที่ร่างกายคุณจะต่อต้านการนอนหลับและมักเป็นต่อเนื่องนานหลายวัน โดย  Dr. Ariella Silver หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของ The Mount Sinai Adolescent Health Center ได้กล่าวไว้ว่า หากปัญหาการนอนไม่หลับไม่ถูกรักษา มันจะสามารถส่งผลให้ภาวะโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยแย่ลงกว่าเดิมได้

3.การมองว่าตัวเอง “ไร้คุณค่า” 
แม้ว่า “ความเศร้า” จะก่อให้เกิดความคิดว่าตัวเองไร้ค่า แต่มักจะถูกชดเชยด้วยพลังเชิงบวกจากเพื่อนและครอบครัว ในขณะที่ Marcus Clarke ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ได้เขียนอธิบายไว้ในบทความของเขาว่าการกล่าวโทษตัวเองและมองว่าตนไร้คุณค่าในผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” นั้น จะไม่สามารถชดเชยได้ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง หรือแม้แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

4.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่มเร็วผิดปกติ
ทุกครั้งที่โดน “ความเศร้า” เล่นงาน อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดก็จะตามมาติดๆ แต่สำหรับ “โรคซึมเศร้า” แล้วนั้น มันไม่ใช่แค่ภาวะน้ำหนักลดฮวบจนผิดปกติอีกต่อไป เพราะ Gary Kennedy ผู้อำนวยการศูนย์จิตเวช Montefiore Medical Center ของนิวยอร์ก บอกไว้ว่า “น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแบบรวดเร็ว” ก็ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยบางรายได้เช่นกัน

5.เคลื่อนไหวช้า...สูญเสียการโฟกัส 
อาการสมาธิสั้นและการโฟกัสสิ่งรอบข้างมักลดลงเมื่อถูกกระตุ้นให้เกิด “ความเศร้า” แต่อาการนี้จะเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งต่างจาก “โรคซึมเศร้า” ที่จะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดลง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สำคัญหรือเป็นเรื่องที่เล็กนิดเดียวก็ตาม

6.คิดวนเวียน เรื่อง “ฆ่าตัวตาย” 
หากมีความคิดว่า “ฉันอยากฆ่าตัวตาย” เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ “ความเศร้า” แต่เข้าข่าย “โรคซึมเศร้า” ในระยะที่รุนแรง ขณะเดียวกันการคลายความเศร้าด้วยการดื่มเหล้าก็นับว่าเป็นอีกพฤติกรรมที่น่ากังวลด้วยเหมือนกัน เพราะมีผลจากการศึกษาของ NHS ประเทศสกอตแลนด์พบว่า...ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาเพราะทำร้ายร่างกายตัวเอง มากกว่าครึ่งหนึ่งมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย 

มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่คุณจะรีบเช็ดน้ำตา...แล้วหอบหัวใจอันบอบบางไปลุยต่อ แต่เพราะนาฬิกาชีวิตไม่เคยหยุดเดินเพื่อรอวันหายเศร้า เราจึงต้องพยายามกลับมาสร้างความสุขให้ตัวเอง...ก่อนที่จะไม่มีวันพรุ่งนี้ให้เราได้แก้ตัว!!! 
 
-->