ฮอร์โมนตก ต้องรีบเพิ่ม...ไม่ชัวร์ ต้องรีบเช็ค ก่อนร่างพัง!

แน่ล่ะ! ใครๆ ก็เคยได้ยินเกี่ยวกับฮอร์โมนความสุข ฮอร์โมนความเครียด แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ฮอร์โมนที่ช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยและร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้...จากการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ 6 ฮอร์โมนสำคัญ พร้อมเทคนิคในการบู้สท์อัพระดับฮอร์โมน ที่จะฉุดคุณขึ้นมาก่อนที่ร่างจะพังไม่เป็นท่า
 
6 ฮอร์โมนสำคัญ...ต้องจำให้ขึ้นใจ

1.เอ็นโดรฟิน (Endorphin)
หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่อเรารู้สึกว่ามีความสุข พึงพอใจ หรือรู้สึกผ่อนคลาย และในทางกลับกัน หากเราเครียดฮอร์โมนนี้ก็จะลดลง

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: ออกกำลังกายประมาณ 20 นาทีขึ้นไป เดินจงกรม ทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ถึงจุดสุดยอด

2.โดพามีน (Dopamine)
เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหว ความจำ หรือการเรียนรู้ เมื่อไหร่ที่โดพามีนต่ำเกินไปก็จะส่งผลให้คุณรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้ ซึ่งด้วยเหตุผลนี้นี่แหละ ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนานำโดพามีนมาใช้เป็นยารักษาโรคทางจิตเวช

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: การออกกำลังกายและทานอาหารที่มีกรดอะมิโนและโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือถั่ว

3.เซโรโทนิน (Serotonin)
เป็นอีกหนึ่งฮอร์โมนที่หลั่งจากสมองและทางเดินอาหาร จะสัมพันธ์กับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมรณ์ การนอนหลับและพฤติกรรมต่างๆ หากระดับเซโรโทนินต่ำเกินไปจะส่งผลให้มีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ปวดหัว ปวดไมเกรน รวมทั้งยังทำให้เสี่ยงภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: ออกกำลังกายเป็นประจำ และเลือกทานอาหารที่มีโปรตีน เพราะเซโรโทนินสร้างมาจากทริปโตเฟน ซึ่งอยู่ในนม ไข่แดง เนื้อสัตว์ ถั่ว กล้วย และอาหารที่มีโปรตีนสูงทุกชนิด

4.คอร์ติซอล (Cortisol)
ฮอร์โมนแห่งความเครียดที่จะหลั่งออกมาตอนที่คุณตกอยู่ในเหตุการณ์คับขัน หรือตอนที่กำลังป่วยไข้ ซึ่งการที่ร่างกายหลั่งคอร์ติซอลนั้นก็เพื่อเตรียมพร้อมฟื้นฟูร่างกายในการต้านภาวะการอักเสบหรือการติดเชื้อ และควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ เพื่อรักษาระดับความดันให้ทำงานเป็นปกติอีกด้วย

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะคอร์ติซอลจะหลั่งมากในช่วงเช้าและลดลงในช่วงบ่าย ก็เพราะแบบนี้ไง...คนที่นอนไม่พอหรือนอนไม่เป็นเวลา ระดับคอร์ติซอลต่ำจึงรู้สึกว่าไม่สดชื่นและมักจะป่วยได้ง่ายๆ

5.เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
เป็นฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีพัฒนาการเติบโตไปตามช่วงวัย และเทสโทสเตอโรนจะลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น ถ้าคุณผู้ชายไม่รักษาฮอร์โมนนี้ให้สมดุล หากเกิดลดลงก่อนวัย...ก็จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อ มวลกระดูก เสี่ยงกล้ามเนื้อลีบ กระดูกเปราะบาง รวมถึงปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวอีกด้วย

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ และทานอาหารกลุ่มที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย อย่าง หอยนางรม ที่อุดมไปด้วยแร่สังกะสี 

6.เอสโตรเจน (Estrogen)
สำหรับผู้หญิงเองก็จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตจากรังไข่ ช่วยให้ร่างกายเติบโตไปตามช่วงวัยด้วยเหมือนกัน ซึ่งช่วงเวลาที่ระดับเอสโตรเจนจะลดลงก็คือ วัยหมดประจำเดือน หรือช่วงอายุประมาณ 45-50 ปี และการที่เอสโตรเจนลดลงนั้น จะส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมักมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว

วิธีบู้ทส์อัพ! เมื่อระดับฮอร์โมนตก: เลือกทานอาหารกลุ่มที่มีเอสโตรเจนสูง เช่น น้ำมะพร้าว ถั่วเหลือง หรือน้ำเต้าหู้ เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้...หลายคนอาจจะยังงงๆ อยู่ว่า แล้วฮอร์โมนไม่สมดุลจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพยังไง ซึ่ง พญ.หทัยรัตน์ ทองปลั่ง แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ รพ.พญาไท ศรีราชา ได้อธิบายว่า...

“เมื่อระดับฮอร์โมนไม่สมดุลอาจก่อให้เกิดภาวะหรืออาการผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายได้ เช่น การเผาผลาญพลังงานที่เกิดขึ้นภายในร่างกายลดลง มวลกล้ามเนื้อลดลง ปริมาณไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนและยังสามารถส่งผลต่อปัญหาผิวพรรณซึ่งทำให้ผิวแห้งกร้าน เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่ายแลดูแก่กว่าวัย นอกจากนี้ยังทำให้นอนหลับยากขึ้นหรือนอนหลับไม่สนิท ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อาจเกิดภาวะซึมเศร้า ความจำเสื่อม ความต้องการทางเพศลดลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย” 

แต่! แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า “ระดับฮอร์โมนสมดุลดีหรือเปล่า?” เพราะสารธรรมชาตินี้อยู่ภายในร่างกาย...มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แถมฮอร์โมนบางตัวก็อาจไม่แสดงอาการชัดเจนเมื่ออยู่ในระดับต่ำกว่าปกติอีกด้วย

ซึ่ง พญ.หทัยรัตน์ ทองปลั่ง ได้อธิบายถึงความสำคัญของการตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นว่ามีความสอดคล้องกับความผิดปกติของระดับฮอร์โมนมากน้อยแค่ไหน เพื่อเริ่มต้นการรักษาที่เหมาะสม และคุณหมอยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า “การตรวจวัดระดับฮอร์โมนสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่าง บุคคลที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษจากสิ่งแวดล้อม, ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่, ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารหรือพร่องวิตามิน, ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งในบุคคลที่มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ”

อ่ะ สำหรับชาว health addict คนไหนที่กำลังไม่มั่นใจว่าอาการเหนื่อยล้า ไม่สดชื่น หรือหงุดหงิดง่ายของตัวเองนั้น เกิดจากระดับฮอร์โมนที่ขาดความสมดุลหรือเปล่า จะลองนำเทคนิคการปรับบาลานซ์ไปใช้ดู หรือจะลองเข้าไปปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก็ได้นะ เพราะแค่ปรับ(สมดุล)ให้เป็น...ก็ช่วยลดโอกาสป่วยไปได้หลายโรคเลยเชียวล่ะ!!



 
-->