นักบำบัดเค้าจัดการยังไง? กับ Vicarious Trauma แผลทางใจที่ได้จากการรับฟัง



ทุกวันนี้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น คนที่มีอาการป่วยทางใจก็ได้รับการรักษาไม่ต่างจากคนป่วยทางกาย ... แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่าบรรดานักบำบัด นักจิตวิทยา จิตแพทย์ รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ ที่ต้องรับฟังเรื่องราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศร้ารวมถึงปัญหาที่ยากจะหาทางแก้ เขาช่วยเหลือและหาทางออกให้คนไข้อย่างไร โดยที่ตัวนักบำบัดเองไม่เศร้าตามไปด้วย

ลองนึกภาพดูว่า เพียงแค่เพื่อนสนิทมาร้องไห้กับเราเพราะเจอปัญหาต่างๆ ที่หาทางออกไม่เจอ เราก็เศร้าจะแย่... แล้วนักบำบัดที่เขาฟังวันละหลายๆ เรื่อง หลายๆ คน เขาจัดการตัวเองอย่างไร? และเรื่องเศร้าเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อพวกเขาแค่ไหน? เราไปเจอเรื่องน่าสนใจจาก huffpost.com เลยอยากนำมาแบ่งปัน



• รู้จัก Vicarious trauma แผลทางใจที่เกิดจากการรับฟัง
ความรู้สึกด้านลบทั้งเศร้าใจ สะเทือนใจ หรือแม้แต่ความกระอักกระอ่วนใจที่เกิดจากการับฟังเรื่องเศร้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพื่อนสนิท เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย หรือแม้แต่สงครามในซีเรีย มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Vicarious trauma คือความบาดเจ็บทางใจจากการรับฟังประสบการณ์อันขมขื่นของคนอื่น ซึ่งมักเกิดกับอาชีพที่ต้องรับฟังเรื่องทุกข์ของคนอื่น

Nicole M. Ward นักจิตวิทยาครอบครัวผู้เชี่ยวชาญด้าน Vicarious trauma บอกว่า นักบำบัดก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน และเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงได้เหมือนกัน สิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือการบาดเจ็บทางใจที่ได้จากการรับฟังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มันอาจจะสะสมไปเรื่อยๆ ได้จากการรับฟังและบำบัดคนที่ต้องเจอกับเรื่องราวแย่ๆ ในชีวิต

• นักบำบัดเค้ารับมือยังไง ไม่ให้จมในความเศร้า
อย่าเพิ่งตกใจ! การเกิด Vicarious trauma  ไม่ได้หมายความว่าตัวนักบำบัดต้องทำงานบนความเสี่ยง เพราะพวกเขาต่างก็ได้รับการฝึกฝนให้จัดการความรู้สึกต่างๆ รวมถึงป้องกันบาดแผลทางใจที่อาจเกิดกับตัวเอง

Mahlet Endale นักจิตวิทยาจากแอตแลนต้า บอกว่า นักบำบัดแต่ละคนก็ต้องดูแลตัวเองไม่ต่างจากคนทั่วไป ทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือรู้ขีดจำกัดของตัวเอง แล้วบาลานซ์ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

ส่วนการป้องกัน Vicarious trauma ก่อนอื่นเธอจะดูว่าในช่วงเวลานั้นๆ มีลูกค้ากี่คนที่ต้องทำงานด้วย แล้วจะจัดสรรเวลาเพื่อให้ตัวเองได้ฟื้นฟูจิตใจด้วย "หากตัวนักบำบัดเองต้องเจอกับเรื่องเศร้า หรือสูญเสียเพื่อนสนิทหรือบุคคลในครอบครัว ก็ควรเลี่ยงคนไข้ที่มีปัญหาบางอย่างไปก่อน เช่น ความหดหู่ เสียใจ กำลังกังวลเรื่องการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือคนที่มีความบอบช้ำทางใจ อาจรอจนกว่าตัวนักบำบัดเองสามารถก้าวข้ามความสูญเสียหรือเข้มแข็งพอ"  

• 2 เทคนิค พิชิต Vicarious trauma
เทคนิคที่จะพูดถึงนี้ เป็นของ Anthony Freire ผู้ก่อตั้งคลินิกให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในนิวยอร์ก ซึ่งเราสามารถนำไปปรับใช้ได้เหมือนกัน

เทคนิคแรกคือ The Balcony Effect คือการที่นักบำบัดไม่อินกับเรื่องราวเกินไป โดยจินตนาการว่าตัวเองยืนอยู่บนระเบียงเหนือห้องบำบัด จากนั้นก็เฝ้ามองเหตุการณ์ที่คนไข้กำลังบอกเล่าเรื่องราว เทคนิคนี้จะไม่ทำให้นักบำบัดรู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เทคนิคที่สองก็คล้ายกับเทคนิคแรก เรียกว่า The Movie Theater Effect คือการที่นักบำบัดจินตนาการว่ากำลังดูหนังที่คนเล่าเรื่องคือคนไข้ โดยไม่คิดว่าตัวเองอยู่ในเรื่องเล่า

โดย Anthony Freire บอกว่าทั้งสองเทคนิคถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวนักบำบัดเกิดการสร้างความทรงจำผิดๆ จากการรับฟังเรื่องต่างๆ ของคนไข้ เป็นการตัดไฟไม่ให้เกิด Vicarious trauma ได้

ทั้งนี้ ใครที่อยากปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็อย่ากังวลว่าเรื่องราวของตัวเองจะหนักหนาเกินกว่าที่นักบำบัดจะจัดการได้ อย่าลืมว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการรักษาอาการป่วยทางใจของคนที่ต้องการหาทางออก

หากใครที่เกรงว่าตัวเองจะเริ่มป่วยทางใจ ลองเข้าไปอ่านวิธีดีลกับโรคซึมเศร้าจากนักวิทยากันหน่อยมั้ย

และหนุ่มคนไหนที่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองเข้าข่ายซึมเศร้ารึป่าว ลองมาอ่านสัญญาณโรคซึมเศร้าที่มักพบในผู้ชายทางนี้สิ


 
-->