ทำความรู้จักโรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder



เชื่อว่าหลายคนเคยเจอคนที่ชอบเก็บสะสมของเป็นกองพะเนินจนล้นบ้าน เตือนให้ทิ้งบ้างก็ไม่ฟัง เผลอๆ พาลไม่พอใจกันไปอีก! ซึ่งของที่ว่าก็มักจะเป็นของไร้ค่าที่หลายคนมองว่าเป็น “ขยะ” ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว รูมเมท หรือคู่ชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันรู้สึกไม่สบายใจ และกลายเป็น toppic ที่ทำให้หลายบ้านทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง เหมือนซีนในหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ อะไรประมาณนั้นเลย 




ทำความรู้จัก "โรคเก็บสะสมของ"
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ”โรคเก็บสะสมของ” เพิ่งถูกเพิ่มในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อปี 2556 นี้เอง ซึ่งก่อนหน้านี้ยังเคยไม่มีเกณฑ์วิฉัยโรคนี้มาก่อน ข้อมูลจาก American Psychiatric Association ระบุว่าโรคนี้พบได้ 2-6% จากประชากรทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจมีอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ หรือบางคนอาจเริ่มแสดงอาการหนักเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งจากตัวเลขพบว่าคนที่มีอายุระหว่าง 55-94 ปี มีโอกาสพบอาการของโรคได้มากกว่าคนอายุ 34-44 ปี ถึง 3 เท่า


เช็คลิสต์อาการ Hoarding Disorder
 
     •    เก็บสะสมของจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นของที่ไม่มีประโยชน์หรือมีโอกาสหยิบมาใช้ได้น้อย อย่างเช่นถุงพลาสติก ขวดน้ำ หนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้ว เก็บจนล้นเต็มบ้าน 
     •    ตัดใจทิ้งของไม่ได้ แม้ของเหล่านั้นจะไม่ได้มีประโยชน์แล้วก็ตาม 
     •    มีความรู้สึกจำเป็นว่าต้องเก็บไว้ เพราะคิดว่าอาจจะได้ใช้ในอนาคตหรือยังจำเป็นอยู่ ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ได้หยิบมาใช้หรอก 
     •    ของที่สะสมไว้เริ่มเยอะจนรบกวนชีวิต เช่นของเยอะจนเริ่มขวางทางเดิน สุมของบนโต๊ะกินข้าวจนนั่งกินที่โต๊ะไม่ได้ อุบัติเหตุของล้มทับใส่ หรือกลายแหล่งสะสมฝุ่นและเชื้อโรคจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นต้น
 
แต่ถ้าเป็นคนปกติที่มีของรักของสะสมอย่างหนังสือหรือโมเดลการ์ตูน แต่เก็บไว้ในตู้หรือสามารถจัดเก็บได้อย่างมีระเบียบ ก็ไม่ถือว่าเป็นโรคนี้นะ 

 
Psych Central   
 
สาเหตุเกิดจากอะไร?
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคชนิดนี้เกิดจากอะไรกันแน่ แต่งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค
     •    กรรมพันธุ์ ความน่าสนใจคือสาเหตุของโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกกรรมพันธุ์ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยถึง 80% มีญาติเป็นโรคนี้หรือมีอาการที่คล้ายๆ กัน
     •    การทำงานของสมอง จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองพบว่าคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มีการทำงานสมองบางส่วนลดลง อย่างเช่น Cingulate Cortex และ Occipital Lobe ซึ่งอาจส่งผลต่อการคิดการตัดสินใจ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากโรคสมองเสื่อมทำให้มีอาการชอบเก็บสะสมของได้เหมือนกัน
     •    เคยประสบเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต  หลายคนเริ่มมีอาการของโรคหลังจากที่เคยได้อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เช่นสูญเสียคนรัก หย่าร้าง ถูกขับไล่ออกจากบ้าน หรือเคยประสบเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านจนไม่เหลืออะไรเลยเป็นต้น 

แบบไหนควรไปพบจิตแพทย์
ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวและมองว่าการสะสมของของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ฉะนั้นหากคนใกล้ตัวสังเริ่มสังเกตเห็นว่ามีอาการชอบสะสมของมากผิดปกติ ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์แต่เนิ่นๆ จะดีกว่า

การรักษา
โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยจิตวิทยาสอนการตัดสินใจในการทิ้งหรือเก็บ การจัดกลุ่ม การเก็บแบบมีประสิทธิภาพ และการฝึกความอดทนเมื่อจำเป็นต้องทิ้งสิ่งของ คล้ายกับวิธีของนักจัดระเบียบบ้านในซีรีส์ Tidying Up with Marie Kondo บน Netflix ที่สอนให้เก็บเฉพาะของชิ้นที่รู้สึก spark joy เท่านั้น ส่วนชิ้นที่ไม่ได้มีคุณค่าแล้วก็ให้โยนทิ้งไปแบบไม่ต้องเสียดาย พบว่าวิธีนี้จะช่วยกำจัดของที่สะสมลงได้เกือบ 1 ใน 3 แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้ยากลุ่มต้านเศร้า (Antidepressant) กับผู้ป่วยซึ่งได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


การอยู่ในบ้านที่รกจนนอกจากจะเสียสุขภาพกายอย่างเสี่ยงสะดุดล้มหรือภูมิแพ้จากฝุ่นแล้ว ยังเสียสุขภาพจิตอีกด้วย ฉะนั้นหากรู้ตัวว่าของในบ้านเริ่มรกไม่เป็นระเบียบแล้ว ลองติดต่อร้านรับซื้อของเก่าแถวบ้าน หรือถ้าเป็นของใช้จะเก็บไปบริจาคให้คนที่ต้องการก็ดีเหมือนกัน เช็คที่นี่เลย >> Where to ทิ้ง รวม 5 มูลนิธิ 5 เปิดรับบริจาคเสื้อผ้าและของใช้


 
 
-->